google-site-verification: googleb7f6cb2897a693e4.html นวัตกรรม เพื่ออากาศบริสุทธิ์ รางวัลระดับโลก ,Airborne,LEED Building,Air Purifier,Nano,Cleaner,Bioaerosol,Bird Flu,Sars,TB,Swine Flu,nano,Electronic,filter,Best Innovation,Infection Control,Healthcare Facilities,Dust Filter
ReadyPlanet.com
dot dot
ข่าวเตือนภัยไข้หวัด

 

 

 


สธ.สั่งหน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว 1,500 ทีมทุกจังหวัด เตรียมพร้อมเฝ้าระวังไข้หวัดนก

·  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งสำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด เตรียมพร้อมหน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วกว่า 1,500 ทีม เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกตลอด 24 ชั่วโมง หลังพบมีเป็ดตาย ที่จ.สุพรรณบุรี พร้อมให้ประสานปศุสัตว์ใกล้ชิด ขอความร่วมมือประชาชนทุกคน หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ให้แจ้งอสม. ปศุสัตว์ ผู้นำชุมชนทันที และห้ามนำซากสัตว์ปีกรวมทั้งสัตว์ปีกในฝูงเดียวกันที่ยังไม่ตายมาชำแหละ ไม่ใช้มือเปล่าจับซากสัตว์ปีก

จากกรณีที่มีข่าวเป็ดของชาวบ้าน ที่ตำบลสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ล้มป่วยตายโดยไม่ทราบสาเหตุกว่า 1,000 ตัว เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้ทำลายเป็ดที่เหลือจำนวน 4,000 กว่าตัว โดยก่อนหน้านี้ มีเป็ดที่ตำบลวังยาง ตาย 100 กว่าตัว เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้าไปทำลายเป็ดที่เหลือเช่นกัน และส่งตรวจพิสูจน์เชื้อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยู่ระหว่างรอผลการตรวจ

เกี่ยวกับความคืบหน้าดังกล่าวนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่าในวันนี้ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เตรียมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน และประชาสัมพันธ์การป้องกันโรคไข้หวัดนกแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนตื่นตัวและให้ความร่วมมือการป้องกันโรค ให้โรงพยาบาลทุกแห่งตรวจคัดกรอง ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ และซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกทุกราย ให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วที่มีกว่า 1,500 ทีมทั่วประเทศในการเฝ้าระวังโรค หากพบผู้ป่วยรายสงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคไข้หวัดนก ให้ลงพื้นที่สอบสวนโรคและทำการควบคุมโรคทันที โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อย่างใกล้ชิด

นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนกมากว่า 3 ปี ในปี 2552 ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงวันนี้ ยังไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกรายใหม่ แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ทำการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่องเป็นภารกิจประจำ โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเฝ้าระวังผู้ป่วยที่มีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ หรือปอดบวมที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทุกวัน และรายงานที่สำนักระบาดวิทยาทุกวัน

ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า กรมควบคุมได้ประชุมแพทย์และนักวิชาการเพื่อประเมินติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิดเป็นประจำ พบว่าจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุทัยธานี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เป็นพื้นที่ที่ต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเคยพบผู้ป่วยไข้หวัดนกในช่วงการระบาดครั้งก่อน ดังนั้นได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมโรคประจำพื้นที่ดูแลอย่างเข้มงวดทั้งการเฝ้าระวัง และการรักษาผู้ป่วย พร้อมกับควบคุมโรคเพื่อจำกัดวงแพร่ระบาดให้เร็วที่สุด ซึ่งทุกแห่งได้เตรียมพร้อมทั้งยารักษา อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขได้จับมือกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันโรคอย่างเหนียวแน่น

ประการสำคัญที่สุด ต้องขอความร่วมมือจากอสม.และประชาชนทุกคน ช่วยกันสอดส่องเฝ้าระวังสัตว์ปีกในบ้านหรือในพื้นที่ หากพบมีป่วยตายผิดปกติ ขอให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรืออสม. ผู้นำชุมชน อบต.เพื่อให้มาตรวจสอบว่าเกิดจากไข้หวัดนกหรือไม่ และห้ามนำซากสัตว์ปีกทุกชนิด รวมทั้งสัตว์ปีกที่อยู่ในฝูงเดียวกันที่ยังไม่ตาย มาชำแหละเป็นอาหารหรือนำมาขายอย่างเด็ดขาด อย่าจับซากสัตว์ด้วยมือเปล่า เนื่องจากจะทำให้ติดเชื้อไข้หวัดนกได้ ซึ่งช่วงนี้เป็นฤดูกาลการระบาดของโรคไข้หวัดนกประจำปี จึงขอให้ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯอย่างใกล้ชิด

************************** 16
พฤศจิกายน 2552

แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ,สธ.

[16/
พ.ย/2552]

 

 


สธ.กำชับทุกจังหวัดรับมือไข้หวัดใหญ่ 2009 ในช่วงฤดูหนาว เข้มใน 35 จังหวัดเหนือ อีสาน

·  กระทรวงสาธารณสุข กำชับสาธารณสุขทุกจังหวัดรับมือไข้หวัด 2009 ในช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะ 35 จังหวัดภาคเหนือ อีสาน คงมาตรการ 2 ลด 3 เร่ง ส่วนประชาชนทั่วไปขอความร่วมมือคงพฤติกรรมกินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด ไอจาม หรือเมื่อเข้าไปในที่คนแออัด หากทุกภาคส่วนร่วมมือแข็งขัน มั่นใจการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัด 2009 สำเร็จแน่

วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2552) ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยคณะ ติดตามการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอาสาสมัครสาธารณสุข

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ยังแพร่ระบาดในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีคนไทยติดเชื้อและมีภูมิคุ้มกันโรคแล้วประมาณ 6 ล้านคน ที่เหลือ 57 ล้านคนยังเสี่ยงติดเชื้อเพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ฤดูหนาว สภาพอากาศหนาวเย็น ทำให้เชื้อไวรัสเจริญเติบโตและแพร่ได้ดีในสภาพอากาศแห้งชื้น รวมทั้งเป็นฤดูท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศเดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้โอกาสเสี่ยงต่อการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด โดยเฉพาะ 35 จังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้เข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากอากาศหนาวเร็วและนานกว่าที่อื่น โดยขอร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เข้าใจมาตรการป้องกันควบคุมโรค เพราะโรคไข้หวัดใหญ่ติดต่อกันได้ง่ายมากหากขาดความระมัดระวัง โดยขอความร่วมมือประชาชนทุกคนคงพฤติกรรม กินร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัดไอจาม หรือเมื่อในไปในที่แออัด ก็จะทำให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 แน่นอน

นอกจากนี้ ได้ให้ทุกจังหวัด คงมาตรการ 2 ลด คือ ลดการติดเชื้อและป่วย ลดการเสียชีวิต และ 3 เร่ง คือ เร่งให้อสม.ค้นหาผู้ป่วยในชุมชน เร่งเผยแพร่ความรู้ประชาชนในการป้องกันตนเอง และเร่งรัดการบริหารจัดการความร่วมมืองทุกภาคส่วน ให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลจังหวัด 96 แห่ง จัดทีมแพทย์ดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะ และให้กรมการแพทย์จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ให้คำปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง กรณีมีปัญหาในการรักษาโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ป่วยโรคปอด หอบหืด โรคหัวใจ โรคอ้วน โรคเบาหวาน และผู้สูงอายุ

สำหรับที่แม่ฮ่องสอน มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 จำนวน 97 ราย ใน 6 อำเภอ คือ ปางมะผ้า เมือง ปาย ขุนยวม แม่สะเรียง และแม่ลาน้อย มากที่สุดที่ อ.ปางมะผ้า 49 ราย ยังไม่มีรายงานผู้ป่วยที่ อ.สบเมย
**************************************** 15
พฤศจิกายน 2552


แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ,สธ.

[16/
พ.ย/2552]

 


สธ. ให้ทุกจังหวัดเข้มข้นเฝ้าระวัง“ไข้หวัดใหญ่ 2009 หวัดใหญ่ฤดูกาล หวัดนก” ตลอดหนาว
 สาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะ 11 จังหวัดที่เคยมีไข้หวัดนกในสัตว์ระบาด เข้มข้นการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และไข้หวัดนก ที่อาจมาพร้อมฤดูหนาวตลอด 4 เดือน ให้ทุกโรงพยาบาลจัดระบบคัดกรอง ซักประวัติสัตว์ปีกตายในรายที่มีอาการไข้ ไอ ทุกราย หากไข้ไม่ลดลงใน 48 ชั่วโมง ให้ยาต้านไวรัสทันที โดยเตรียมพร้อมห้องแยกโรค ป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล

วันนี้ (28 ตุลาคม 2552) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ จ.พระนครศรีอยุธยา นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทุกระดับ และผู้รับผิดชอบงานป้องกันควบคุมโรคในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนก/ไข้หวัดใหญ่ 11 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย ตาก พิษณุโลก นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 240 คน เพื่อเร่งรัดการบูรณาการป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล

นายวิทยากล่าวว่า ขณะนี้การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ได้ขยายตัวไปทุกจังหวัด พบผู้ป่วยจากร้อยละ 90 ของอำเภอทั้งหมด และคาดว่าในช่วง 3-4 เดือนจากนี้ไปซึ่งเป็นฤดูหนาว เป็นฤดูที่พบการระบาดของไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล อาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ได้ ซึ่งในต่างประเทศพบการระบาดแล้ว นอกจากนี้ ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบเริ่มมีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้น และยังมีความจำเป็นต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก แม้จะไม่พบผู้ป่วยมานานกว่า 3 ปีแล้ว แต่จากข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ยังมีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ 11 จุดใน 5 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง เชียงราย ศรีสะเกษ พิษณุโลก และตาก ดังนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข จะต้องทำงานหนักขึ้นเป็น 3 เท่า ในการเฝ้าระวังโรค และการดูแลผู้ป่วย

นายวิทยากล่าวต่อว่า ได้มอบนโยบายให้ทุกจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 และเคยพบสัตว์ปีกป่วยตายจากไข้หวัดนก เข้มข้นการดำเนินงาน ทั้งการดูแลรักษาผู้ป่วยในสถานพยาบาล การเฝ้าระวังและการป้องกันควบคุมโรค ทั้งในโรงเรียน สถานประกอบการ ที่ทำงาน หอพัก สถานที่ดูแลเด็กเล็ก สถานสงเคราะห์คนชรา เรือนจำ หรือสถานที่ที่มีคนมารวมกันจำนวนมาก และชุมชน โดยเน้นการประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว โรงแรม เกสต์เฮ้าส์ และสถานบันเทิง จัดการป้องกันโรค และให้คำแนะนำแก่นักท่องเที่ยวและพนักงาน ให้ปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันโรคที่กระทรวงสาธารณสุขได้แนะนำไว้อย่างเคร่งครัดตลอดช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวช่วงปลายปีนี้

ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ไข้หวัดใหญ่ 2009 และไข้หวัดนก เกิดจากเชื้อไวรัส ผู้ป่วยจะมีอาการใกล้เคียงกัน คือ ไข้ ไอ มีน้ำมูก และใช้ยารักษาชนิดเดียวกันคือโอเซลทามิเวียร์ เพื่อต้านการแบ่งตัวของไวรัส ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด จัดระบบการเฝ้าระวังและการตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้หวัด เพิ่มการซักประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ และให้อสม.ทั่วประเทศให้ความรู้ 3 โรคนี้แก่ประชาชน สำรวจผู้ป่วย และรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติในหมู่บ้านทุกวัน ตลอดฤดูหนาวตั้งแต่พฤศจิกายน 2552 - กุมภาพันธ์ 2553 หากพบผู้ป่วยให้แนะนำไปรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที

นอกจากนี้ ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดห้องแยกดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เป็นการเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 800 ห้อง เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในโรงพยาบาล และจัดเตรียมเวชภัณฑ์ ยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ ยาปฏิชีวนะในรายที่เกิดโรคแทรกซ้อนจากแบคทีเรีย และยาจำเป็นสำหรับใช้กับผู้ป่วยหนัก และให้ยาโอเซลทามิเวียร์ในผู้ป่วยที่มีไข้ติดต่อกัน 2 วันทุกรายเพื่อลดการเสียชีวิต ทั้งนี้ แนะนำให้เกษตรกรที่เป็นไข้หวัด หยุดพักรักษาตัวจนกว่าจะหาย ไม่ควรเข้าไปทำงานใกล้ชิดกับสัตว์ในฟาร์มสุกรและสัตว์ปีก เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสผสมข้ามสายพันธุ์

******* 28 ตุลาคม 2552
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[28/ตุ.ค/2552]

 

 


สธ.- ปศุสัตว์สกัดหวัดนก หวั่นระบาดผสมไข้2009
 เมื่อวันที่ 11 กันยายน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยภายหลังลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการปรับปรุงและพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ระหว่างกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กับกรมปศุสัตว์ ว่าไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 1.9 ล้านบาทเศษ จากศูนย์ความร่วมมือไทย - สหรัฐด้านสาธารณสุข (TUC) เพื่อการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังไข้หวัดนกร่วมกัน โดยเชื่อมโยงระบบข้อมูลระหว่างการเฝ้าระวังโรคในคนกับการเฝ้าระวังโรคในสัตว์ ช่วงฤดูกาลระบาดของไข้หวัดนกปีนี้ สธ.กำชับจังหวัดที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนกซ้ำซากให้มีมาตรการเข้มในการเฝ้าระวังทั้งในคนและในสัตว์ปีก

"สิ่งที่น่าเป็นห่วงในฤดูกาลการระบาดของโรคไข้หวัดนกคือ การกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 หากมีการผสมข้ามสายพันธุ์ อาจทำให้โรคมีความรุนแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีไข้หวัดใหญ่ในชนบทเพิ่มมากขึ้น" นพ.ม.ล.สมชายกล่าว

น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ขอความร่วมมือเกษตรกรแยกคอกเลี้ยงสัตว์ปีกและหมูออกจากกัน เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสผสมข้ามสายพันธุ์ และควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกชนิด โดยต้องได้รับอนุญาตก่อน

วันเดียวกัน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียและสหรัฐที่ทำการทดลองวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 เปิดเผยว่า วัคซีนเพียง 1 โดสนั้น มีประสิทธิภาพเพียงพอในการสร้างภูมิคุ้มกันในผู้ใหญ่และเห็นผลภายใน 10 วันหลังได้รับวัคซีน ผลการทดลองนี้ของซีเอสแอล บริษัทผู้ผลิตวัคซีนของออสเตรเลียพบว่า 75-96% ของผู้ได้รับวัคซีนเพียงแค่ 1 โดส จะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ได้ เป็นประสิทธิผลในระดับเดียวกับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ขณะที่ก่อนหน้านี้นักวิทยาศาสตร์ส่วนมากคาดว่าต้องฉีดถึง 2 โดส อย่างไรก็ตาม ผลการทดสอบนี้เน้นไปที่ผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนการศึกษาทดลองในเด็กนั้นยังไม่เสร็จสิ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ จ.ตรัง เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 38 ตรังเกมส์ ระหว่างวันที่ 9-19 กันยายน ปรากฏว่า พบนักกีฬาเรือพาย เพศชาย อายุ 20 ปี จากกำแพงเพชร และนักกีฬาลีลาศเพศหญิง จากนครราชสีมา ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตรัง ล่าสุดผลตรวจพบว่านักกีฬาทั้งสองติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยทีมแพทย์ได้รักษาตัวในห้องคัดแยกคอยสังเกตอาการ พร้อมให้ยาต้านไวรัส และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

 

 

WHO ระบุหวัด 2009 ระบาดเกือบทุกพื้นที่ในโลก
· โฆษกองค์การอนามัยโลก แถลงว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง โดยรพบการระบาดแล้ว ใน 160 จาก 193 ชาติสมาชิกองค์การอนามัยโลก มีผู้เสียชีวิตแล้วราว 800 คนและขณะนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวกับไวรัสตัวนี้อีกหลายเรื่องที่ยังไม่มีใครล่วงรู้ เช่นเชื้อจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และจะมีลักษณะเช่นไรในช่วงฤดูหนาว ของซีกโลกเหนือสำหรับวัคซีนต้านไวรัสชุดแรก คาดว่าจะพร้อมใช้ในแถบซีกโลกเหนือ ช่วงต้นฤดูใบไม้ร่วง

ด้านนายเคอิจิ ฟูกูดะ เจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์การอนามัยโลก บอกว่าจะต้องไม่มีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัย ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ก่อนจะฉีดวัคซีนแก่ประชาชน และว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและผู้ผลิตยากำลังหาหนทางเร่งการผลิตวัคซีนออกมาก่อนที่ซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงโดยต้องได้วัคซีนชุดแรกภายในเดือน ก.ย. และ ต.ค. ส่วนวัคซีนอื่น จะใช้เวลาถึงเดือนธ.ค. หรือเดือน ม.ค. กว่าจะออกสู่ตลาด
แหล่งข่าวโดย....เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น
ผู้จัดทำ....สำนักสารนิเทศกระทรวงสาธารณสุข
[27/
ก.ค/2552]

 

 


ผู้แทน WHO ประจำประเทศไทย ชี้ หยุดการแพร่ระบาดหวัดใหญ่ 2009 ไม่ได้ แต่ควรเฝ้าระวังการกลายพันธุ์
· ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ชี้ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้แต่ควรหามาตรการชะลอและเฝ้าระวังการกลายพันธุ์

แพทย์หญิง มัวรีนเบอร์มิงแฮม ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าวถึงการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่าสถานการณ์ในขณะนี้มีการระบาดอย่างต่อเนื่องโดยธรรมชาติของโรคแล้วไม่สามารถหยุดการระบาดได้ และจะกระจายไปในวงกว้างจึงไม่จำเป็นต้องมีการตรวจรายบุคคล ถือเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลโดยไม่จำเป็นแต่ก็ควรมีการสุ่มตรวจบางราย เพื่อติดตามการกลายพันธุ์ของโรคทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ แต่ละประเทศจะต้องหามาตรการชะลอการแพร่ระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ไม่ให้กระจายพร้อม ๆ กัน

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ดำเนินมาตรการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ตามที่องค์การอนามัยโรคกำหนดมีการเฝ้าระวังติดตามการเปลี่ยนแปลงของโรคเข้มข้นที่สุดในเอเชียรายงานผลการแพร่กระจายของโรคอย่างต่อเนื่องอีกทั้งประเทศไทยยังมีความพร้อมในการรับมือในหลายๆ ด้าน อาทิ ห้องแล็ปปฏิบัติการการจ่ายยาต้านไวรัศโอเซลทามิเวียร์อย่างไม่ขาดแคลน รวมถึงมีโรงงานผลิตวัคซีนด้วย
แหล่งข่าวโดย....กรมประชาสัมพันธ์
ผู้จัดทำ....สำนักสารนิเทศกระทรวงสาธารณสุข
[22/
ก.ค/2552]
 

 


สธ.ระดมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญให้การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ทั่วประเทศ
· กระทรวงสาธารณสุข อบรมเข้มแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนทั้งในกทม.และปริมณฑลเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้มากที่สุดย้ำคนกลุ่มเสี่ยงอาการรุนแรงหลังติดเชื้อหวัดที่มีประมาณ 2.4 ล้านคนหากป่วยไข้หวัดต้องรีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติโรคประจำตัวให้แพทย์ทราบวันนี้ได้รับแจ้งเสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย และรอผลยืนยันอีก 1 รายรวมมีผู้ป่วยยืนยันสะสมทั้งหมด 2,925 ราย เสียชีวิต 13 รายยันขอให้ทุกฝ่ายยึดจำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิตของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดความสับสนของประชาชน

นายวิทยา แก้วภราดัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยความคืบหน้าโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ภายหลังเปิดประชุม 8 ประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ในภูมิภาคและความเข้มแข้งในการป้องกันควบคุมโรคเมื่อเช้าวันนี้ (9 กรกฎาคม 2552) ที่โรงแรมอิมพีเรียล ควีนส์ ปาร์ค กทม. ว่าขณะนี้การระบาดของประเทศไทย จัดอยู่ในระดับ 2 ซึ่งอัตราการตายอยู่ที่ร้อยละ 0.1-0.5 คนทั่วไปยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันตามปกติได้เพียงแต่ให้ดูแลตนเองตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อเดินทางไปดูแลผู้ป่วยอาการหนักร่วมกับทางจังหวัดอย่างไรก็ดีขณะนี้ประเทศไทยมีประชาชนที่เป็นโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงหากป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่เท่าที่สำรวจและขึ้นบัญชีไว้ประมาณ 2.4 ล้านคน ได้แก่ โรคปอด 1.3 แสนคน โรคหอบหืด 3.8 แสนคน โรคหัวใจ 3 แสนคนอัมพาต 1 แสนคน เบาหวาน 1.3 ล้านคน มะเร็ง 10,000 คน ไตวาย 60,000 คนรวมทั้งคนอ้วนน้ำหนักตัวเกิน 100 กิโลกรัมด้วยดังนั้นจึงขอความร่วมมือประชาชนกลุ่มดังกล่าว เมื่อมีอาการไข้หวัด เช่น ไข้ ไอเจ็บคอ มีน้ำมูก อ่อนเพลีย ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติโรคประจำตัวให้ทราบเพื่อให้ยาต้านไวรัสทันทีซึ่งในการประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดและผู้บริหารโรงพยาบาลทุกจังหวัดพรุ่งนี้จะได้มอบเป็นนโยบายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐเอกชนเพื่อให้ความรู้เชิงลึกกับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ที่ขึ้นทะเบียนไว้

อนึ่งในการประชุมประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 8 ประเทศได้แก่ ไทย ภูฎาน อินโดนีเซีย อินเดีย มัลดีฟว์ พม่า เนปาล และ ติมอร์เลสเตนับว่าเป็นประโยชน์มาก โดยจะประชุมทั้งหมด 3 วันมีการนำเสนอสถานการณ์การระบาดของโรค มาตรการการป้องกัน การตรวจทางห้องปฏิบัติการยุทธศาสตร์การทำงาน การเฝ้าระวังโรค ยารักษารวมถึงการผลิตวัคซีนและระบบการแลกเปลี่ยนยาระหว่างประเทศสมาชิกซึ่งจะมีการจัดประชุมกลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานแต่ละประเทศด้วย

ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังเปิดอบรมด้านการรักษาผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯแก่แพทย์โรงพยาบาลเอกชนและกทม.และปริมณฑลเมื่อเช้าวันนี้ ที่โรงแรม มิราเคิล ว่าโรคนี้เป็นโรคระบาดติดต่อรวดเร็วจากคนสู่คน โดยโรคจะมีความรุนแรงในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งมีประมาณร้อยละ 5 ที่ต้องได้รับยาต้านไวรัสที่เหลือหายเองได้ สำหรับรายที่เสียชีวิตที่ผ่านมานอกจากจะมีโรคประจำตัวเป็นส่วนใหญ่แล้วยังพบว่า 1 ใน 3 มีสาเหตุจากมาพบแพทย์ช้าในวันนี้จึงได้หารือกับทีมแพทย์โรงพยาบาลเอกชน ในประเด็นที่เป็นปัญหา 3 เรื่องได้แก่ ค่ารักษาพยาบาล มาตรฐานการรักษาและการส่งตัวอย่างสารคัดหลั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการซึ่งเรื่องนี้ได้ขอให้ยึดตามมาตรฐานราคากลางที่กำหนดไว้รวมทั้งยึดมาตรฐานการรักษาตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดและจัดส่งรายงานข้อมูลผู้ป่วยโรคไข่หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ให้สำนักระบาดวิทยาเพื่อเข้าสู่ระบบเดียวกันทั้งนี้ขอให้ประชาชนเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลที่ตรงตามสิทธิการรักษาซึ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย

ในวันนี้ได้รับรายงานเสียชีวิตที่ยืนยันเพิ่มอีก 1 รายรวมยอดสะสมผู้เสียชีวิตทั้งหมด 13 ราย โดยรายที่ 12 อยู่ กทม. เป็นชายอายุ 52 ปีมีประวัติภรรยาและลูกป่วยเป็นไข้หวัดมาก่อนผู้เสียชีวิตมีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ผ่าตัดแล้ว และไตวายผ่าตัดเปลี่ยนไตเมื่อ 7 ปีก่อน เริ่มป่วยวันที่ 25 มิถุนายน 2552 เข้ารักษาที่รพ.ตำรวจ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ด้วยอาการไข้ ไอ หายใจลำบากแพทย์วินิจฉัยปอดอักเสบรุนแรง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการออกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ยืนยันเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และเสียชีวิต 8 กรกฎาคม 2552 เวลา 19.00 น. สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯขอให้ยึดตามตัวเลขของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อป้องกันการสับสนเนื่องจากในแต่ละวันจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคอื่นๆ ด้วยแต่ในการแยกว่าเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯจะพิจารณาจากผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการเป็นหลัก

สำหรับรายที่ 13 เป็นชาย อายุ 45 ปี ที่อยู่ กทม. เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดของผู้เสียชีวิตและจะนำเข้าที่ประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไรที่เกี่ยวข้องหรือไม่

ส่วนกรณีที่พบผู้ป่วยหญิง ที่จังหวัดมหาสารคามเสียชีวิตสงสัยจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่นได้รับตัวอย่างจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ เพื่อทำการตรวจยืนยันหากได้ผลเป็นประการใดจะได้รายงานให้ทราบต่อไป

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯในวันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบยืนยันติดเชื้ออีก 211 รายในจำนวนนี้เป็นนักเรียน 180 ราย โดยยอดสะสมผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 จนถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2552 รวมทั้งหมด 2,925 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 13 ราย

ทางด้านนายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่าในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ได้เยี่ยมผู้ป่วยที่มีอาการหนักตามโรงพยาบาลต่างๆที่ได้รับรายงาน มีประมาณ 20 ราย จากป่วยทั้งหมด 2,000 กว่าราย หรือประมาณร้อยละ 0.74 อัตราการเสียชีวิตของไทย ร้อยละ 0.4 ซึ่งไม่แตกต่างจากประเทศอื่นๆที่มีผู้ป่วยโรคนี้ จากการวิเคราะห์รายละเอียดผู้ป่วยแต่ละรายที่อาการหนักพบว่ามีประมาณ 15 ราย ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงเสียชีวิตอยู่แล้ว เช่น อ้วน ไตวายโรคธาลัสซีเมีย โรคมะเร็ง ซึ่งกลุ่มนี้เสียชีวิตไปแล้ว 7 ราย หรือประมาณร้อยละ 50 ส่วนผู้ป่วยที่เหลืออีก 5 ราย ไม่มีโรคประจำตัว แต่เสียชีวิตไปแล้ว 4 รายเนื่องจากมีประวัติมาพบแพทย์ช้า มาถึงมือแพทย์เมื่อมีอาการหนักมาก ซึ่งข้อมูลทั้ง 2 ส่วนนี้ แพทย์จะต้องช่วยกันเพื่อลดการสูญเสียชีวิตของผู้ป่วยให้ได้โดยหากแพทย์มีปัญหาในการรักษา สามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกระบบของกรมการแพทย์ที่มีอยู่ประมาณ 30-40 คน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และหากจำเป็นก็จะมีทีมเข้าไปช่วยเหลือเพื่อดูแลผู้ป่วยให้ได้รับความปลอดภัยที่สุด

************************** 9
กรกฎาคม 2552
แหล่งข่าวโดย....สำนักสารนิเทศ สธ.
ผู้จัดทำ....ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ
[9/
ก.ค/2552]
+
สธ.เผยผู้ป่วยเสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่ม 2 ราย รวมยอด 11 ราย

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยยอดผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 วันนี้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย จากกรุงเทพฯ และภูเก็ต รวมยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดขณะนี้ 11 ราย ส่วนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้ออีก 290 ราย ส่วนใหญ่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี วันนี้มีดูแลในโรงพยาบาล 110 ราย เตรียมจัดอบรมแพทย์จากโรงพยาบาลเอกชนเรื่องไข้หวัดใหญ่วันพรุ่งนี้
วันนี้(8 กรกฎาคม 2552)นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ว่า ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ขึ้นทะเบียนผู้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯอีก 2 ราย รวมทั้งหมด 11 ราย โดยรายที่ 10 อยู่ที่จังหวัดภูเก็ต เป็นชายอายุ 19 ปี เริ่มป่วยเมื่อ 30 มิถุนายน 2552 โดยมีอาการไข้ วันที่ 1 กรกฎาคม 2552ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนในภูเก็ตแต่ไม่ยอมนอนโรงพยาบาล วันที่ 2 กรกฎาคม 2552 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวชิรภูเก็ต ผู้ป่วยมีอาการหนักมาก ความดันโลหิตต่ำ แพทย์ใส่ท่อช่วยหายใจช่วยชีวิต และเอ็กซ์เรย์ปอด พบปอดบวมทั้ง 2 ข้างและมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดจำนวนมาก แพทย์ส่งน้ำในช่องปอดตรวจ พบติดเชื้อแบคที่เรียร่วมด้วย แพทย์ให้การดูแลอย่างเต็มที่ ต่อมาผู้ป่วยเสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2552
ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 11 เป็นหญิงอายุ 21 ปี อยู่กรุงเทพฯ ตั้งครรภ์ได้ 5 เดือน และมีโรคไทรอยด์ (Hyperthyroid) เริ่มป่วยเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ด้วยอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก มีไข้และไปรับการตรวจรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2552 ได้รับแจ้งว่าเป็นคออักเสบให้กลับไปพักที่บ้าน ต่อมาวันที่ 6 กรกฎาคม 2552 เวลาประมาณเที่ยงคืนผู้เสียชีวิตเข้ามารับการรักษาที่วชิรพยาบาลด้วยอาการไข้สูง หายใจหอบ ไอ ผลเอ็กซ์เรย์พบปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง เสียชีวิตในวันเดียวกันเวลา 15.00 น.
นายมานิต กล่าวต่อไปว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย สำนักระบาดวิทยาได้ทราบผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการเมื่อเย็นวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 พบยืนยันติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเข้าไปควบคุมโรคที่พักของผู้เสียชีวิตร่วมกับพื้นที่ทั้งหมดแล้ว อย่างไรก็ตามขอย้ำเตือนผู้ที่มีอาการไข้หวัด และมีไข้ หากภายใน 1-2 วันไข้ไม่ลดมีอาการมากขึ้น ควรให้มาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพื่อได้รับการรักษาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ 2009 วันนี้ได้รับรายงานผลการตรวจยืนยันพบติดเชื้ออีก 290 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปีซึ่งรวมนักเรียนจำนวน 243 ราย รวมผู้ป่วยสะสม ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2552 – 8 กรกฎาคม 2552 จำนวน 2,714 ราย หายเป็นปกติแล้ว 2,593 ราย เสียชีวิตทั้งหมด 11 รายเป็นเด็ก 1 ราย เป็นผู้ใหญ่ 10 รายในจำนวนนี้เป็นชาย 6 ราย เป็นหญิง 4 ราย ในวันนี้ยังมีผู้ป่วยอยู่ในการดูแลในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 110 ราย ได้กำชับให้ทีมแพทย์ให้การรักษา ติดตามอาการอย่างเต็มที่ไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยในชีวิตมากที่สุด
นายมานิต กล่าวต่อไปอีกว่า ในวันพรุ่งนี้(9 กรกฎาคม 2552) กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งดูแลโรงพยาบาลเอกชน และกรมการแพทย์ซึ่งดูแลในเรื่องมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ 2009 จัดอบรมฟื้นฟูวิชาการแพทย์ของโรงพยาบาลเอกชนทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล เรื่องแนวทางการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ 2009 ที่โรงแรมมิราเคิล เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้ป่วยและจะเร่งขยายการอบรมทั่วประเทศต่อไป
....... 8 กรกฎาคม 2552
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ สธ.
ผู้จัดทำ.... ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ
[8/ก.ค/2552]

 


สธ.รับกค.นี้หวัด2009อาจระบาดทั่วประเทศ
· นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยยอมรับว่าอาจมีการแพร่ระบาดทั่วประเทศสูงสุดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ซึ่งได้กำชับให้เฝ้าระวังอย่างเต็มที่และขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยกันดูแลป้องกันและหากมีการระบาดไปแล้วประชาชนก็อย่าตื่นตระหนก เพราะรักษาหาย รวมถึงป้องกันได้ส่วนจะมีผู้เสียชีวิตในไทยหรือไม่ ยังไม่สามารถประเมินในขณะนี้ได้เพราะหากโรคนี้ไปติดกับผู้ที่อ่อนแอก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน

เตรียมประชุมประเมินสถานการณ์หวัดนกในสถานศึกษา
นายวิทยา แก้วภราดัยรมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่าในช่วงเช้าวันนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขโดยศูนย์ควบคุมโรคจะมีการประชุมเพื่อรวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพื่อหาว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีกกี่รายและในช่วงเที่ยงวันนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะหารือกับปลัดกระทรวงศึกษาธิการเพื่อหารือมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดภายในสถาบันการศึกษาอย่างไรก็ตามยืนยันว่า โรคหวัดใหญ่ 2009 ที่ระบาดอยู่ในประเทศขณะนี้เป็นการแพร่ระบาดจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศไทยซึ่งเมื่อมีการแพร่ระบาดแล้วกระทรวงสาธารณสุขให้ความมั่นใจว่าจะรักษาได้ โดยย้ำว่าในขณะนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลเพียงไม่ถึง 10 คน นอกนั้นหายเป็นปกติแล้ว

นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุข ยังกล่าวอีกว่าในช่วงบ่ายจะมีการชี้แจงให้ผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ในส่วนของกทม.ได้เข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบันจากนักระบาดวิทยาด้วย

เพิ่มวันเดียว 51 ราย ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009

น.พ.สุพรรณศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลยืนยัน กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 เพิ่มอีกจำนวน 51 ราย เป็นนักศึกษาและนักเรียนจากสถานศึกษาเดิมที่เคยติดเชื้อไวรัสชนิด A H1N1 และอีกส่วนหนึ่งก็เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อทั่วประเทศ

รวมทั้งสิ้น ขณะนี้ เป็น 201 ราย ขณะเดียวกันที่ประชุมศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 ได้ตัดสินใจปรับเพิ่มระดับความรุนแรงของโรคดังกล่าวที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จากระดับ D เป็นระดับ C แล้ว

อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยังคงย้ำขอให้ประชาชน อย่าได้ตื่นตระหนกถึงแม้จากการคาดการณ์ของกระทรวงเชื่อว่าจำนวนผู้ป่วยที่เป็นทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 และไข้หวัดตามฤดูกาลจะเพิ่มมากขึ้นสูงสุด ในเดือนก.ค.ที่จะถึงนี้ก็ตามก็มั่นใจได้สามารถรักษาให้หายได้และความรุนแรงของโรคก็จะเป็นเหมือนการเป็นไข้หวัดตามฤดูกาลเท่านั้
แหล่งข่าวโดย....ไอ.เอ็น.เอ็น.
ผู้จัดทำ....สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[15/มิ.ย/2552]
  

สธ. เสนอคกก.ไข้หวัดใหญ่ระดับชาติ ปรับมาตรการพร้อมรับการระบาดในประเทศ ตั้งเป้าคุมการระบาดได้ใน 2 สัปดาห์
 กระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ ในประเทศ ขณะนี้เริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ หลังพบลูกชายของผู้ป่วยยืนยันรายหนึ่งติดเชื้อด้วย ประกอบกับมีการเดินทางเข้าออกประเทศตลอดเวลา และมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ เสนอทุกฝ่ายซักซ้อมเตรียมความพร้อมรับมือ และปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยตั้งเป้าให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้พบผู้ป่วยรวดเร็ว ควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด ไม่ให้แพร่ขยายในวงกว้างและสิ้นสุดการระบาดภายใน 2 สัปดาห์

บ่ายวันนี้ (4 มิถุนายน 2552) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานและพิจารณาปรับยุทธศาสตร์การดำเนินงานของประเทศให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์

พลตรีสนั่น กล่าวว่า รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมความพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์การระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และถือเป็นวาระสำคัญของประเทศ ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ โดยการดำเนินงานเน้น 3 เรื่อง คือ 1.ความร่วมมือของทุกหน่วยงานในการป้องกันควบคุมโรค โดยการให้ความรู้ ความเข้าใจ ส่งเสริมพฤติกรรมการป้องกันโรคและวิธีปฏิบัติตนในการดูแลตนเอง 2.ความโปร่งใสในการรายงานโรคและมาตรการป้องกันควบคุมโรค และ 3.การลดผลกระทบด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ อย่างใกล้ชิด และมีการปรับมาตรการดำเนินงานให้เหมาะสมตลอดเวลา คาดว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดในอนาคต จะขยายวงกว้างต่อไปเรื่อยๆ จนเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด โดยทิศทางการแพร่ระบาดในทุกประเทศจะเป็นไปใน 3 ระยะคือ ระยะแรก (สถานการณ์ A) มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างประเทศและเดินทางเข้ามาในประเทศ การควบคุมทำได้โดยการแยกรักษา ให้ยาผู้สัมผัสเท่าที่จำเป็น ระยะต่อมา (สถานการณ์ B) เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศ ซึ่งหากควบคุมได้ดี การระบาดจะอยู่ในวงจำกัด พบผู้ป่วยจำนวนหลายสิบคนหรือไม่เกินร้อย แต่ยังอยู่ในพื้นที่เดียวกัน การควบคุมจะใช้มาตรการล้อมกรอบคือ ให้ยาทั้งผู้ป่วยและผู้สัมผัสโดยไม่ต้องตรวจยืนยัน หยุดเรียนหรือหยุดงาน แยกผู้ป่วยให้อยู่ในบ้าน เป็นต้น ระยะต่อไป (สถานการณ์ C) มีการแพร่ระบาดขยายต่อไปในวงกว้างภายในประเทศ มีการแพร่ระบาดข้ามเมืองหรือทั้งประเทศ มีผู้ป่วยจำนวนหลายพันหรือหลายหมื่นคน มาตรการจะใช้วิธีลดผลกระทบ เช่น เน้นดูเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ให้เฉพาะผู้ที่ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดงาน แทนการหยุดทั้งหมด

นายวิทยา กล่าวต่อว่า ในวันนี้ไทยพบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ฯ เพิ่มอีก 3 ราย นับเป็นรายที่ 6,7 และ 8 โดยรายที่ 6 เป็นหญิงไทย อายุ 49 ปี เป็นภรรยาของผู้ป่วยยืนยันรายหนึ่ง มีประวัติเดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกาด้วยกัน เริ่มมีอาการปวดเมื่อยร่างกาย ระคายคอ ไม่มีไข้ ขณะเดินทางกลับไทยเมื่อ 25 พฤษภาคม 2552 ไปรับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล ขณะนี้อาการหายดีแล้ว ขณะเดียวกันลูกชายอายุ 19 ปี ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ ก็ติดเชื้อด้วยเนื่องจากเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด นับเป็นรายที่ 7 ส่วนรายที่ 8 เป็นหญิงไทยอายุ 20 ปี เริ่มมีอาการเจ็บคอ ก่อนออกเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2552 ถึงประเทศไทยวันที่ 1 มิถุนายน 2552 เริ่มมีอาการคัดจมูก ไอ ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2552

จากการพบการติดเชื้อในประเทศ ทำให้ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของประเทศ จึงเริ่มพบผู้ติดเชื้อในประเทศ ซึ่งติดจากผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ การดำเนินงานจะต้องเน้นการป้องกันการแพร่เชื้อในประเทศ เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว ให้การรักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามผู้สัมผัสโรคเพื่อป้องกันควบคุมโรคอย่างรวดเร็ว และให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตนเองและลดการแพร่กระจายเชื้อ

นายวิทยา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาค แต่ละวันมีผู้เดินทางเข้าประเทศจำนวนมาก จึงมีโอกาสที่ผู้เดินทางจะนำเชื้อเข้าประเทศทุกวัน กระทรวงสาธารณสุขและทุกกระทรวงจะเตรียมป้องกันการแพร่เชื้อในประเทศอย่างเต็มที่ โดยปรับมาตรการดำเนินงานให้มีความพร้อมใน 3 ประเด็นหลัก คือ การซักซ้อมความพร้อมตามภารกิจรับผิดชอบ การป้องกันควบคุมโรคโดยใช้มาตรการด้านชุมชนและสังคม เช่น ส่งเสริมการล้างมือ ใช้หน้ากากอนามัย ให้ผู้ป่วยหยุดเรียน หรือปิดโรงเรียน/สถานที่ ลดการชุมนุม และปรับวิธีทำงาน คงบริการ และช่วยเหลือพนักงาน เป็นต้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะตรวจพบผู้ป่วยอย่างรวดเร็ว และหากมีการระบาดขึ้นก็จะควบคุมการระบาดให้อยู่ในวงจำกัด และให้สิ้นสุดภายใน 2 สัปดาห์

**************************** 4 มิถุนายน 2552
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ
ผู้จัดทำ.... ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ สธ.
[4/มิ.ย/2552]

 

 


สธ. ออกประกาศคำแนะนำเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ฉบับที่ 5
 กระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศคำแนะนำเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ฉบับที่ 5 ให้ประชาชนทั่วไป นักเรียน อสม. ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ให้ออกกำลังกายเพิ่มภูมิต้านทานโรค โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ขอให้พบแพทย์ทันที

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในบ่ายวันนี้ (12 พฤษภาคม 2552) กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศคำแนะนำประชาชน เรื่องการดูแลสุขภาพ เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช 1 เอ็น1 ฉบับที่ 5 หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขขึ้นทะเบียนผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จำนวน 2 ราย ในวันที่12 พฤษภาคม 2552 ซึ่งติดเชื้อมาจากประเทศเม็กซิโก รักษาหายเป็นปกติ ไม่มีเชื้อในร่างกายแล้ว ส่วนผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ได้รับยาต้านไวรัสครบชุดและติดตามเฝ้าสังเกตอาการอย่างต่อเนื่อง ไม่มีรายใดมีอาการป่วยแต่อย่างใด

นายมานิต กล่าวต่อว่า เพื่อรับมือกับไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนและประชาชนทุกคน เป็นหัวใจสำคัญที่สุดของความสำเร็จ ในการเฝ้าระวังและป้องกันและลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นย้ำคำแนะนำประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุข และสถานศึกษา เพื่อความร่วมมือในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 ของประเทศ มีคำแนะแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ควรดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรค รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ สร้างสุขนิสัยในการป้องกันโรค เน้นกินของร้อน ใช้ช้อนกลาง หมั่นล้างมือ และใช้หน้ากากอนามัยเมื่อมีอาการไอ ผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หากมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ปวดเมื่อยตามตัว ควรรีบไปพบแพทย์ หากพบผู้ใกล้ชิดมีอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่มเดินทางกลับมาจากต่างประเทศภายใน 7 วัน ควรแนะนำไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข

กลุ่มโรงเรียนและสถานศึกษา เมื่อเปิดภาคเรียน ควรสำรวจนักเรียนเป็นประจำทุกวัน สังเกตอาการป่วยของนักเรียน ดูแลนักเรียนที่ป่วยอย่างถูกวิธี สอนและให้คำแนะนำวิธีรักษาสุขภาพและป้องกันโรคแก่นักเรียน จัดสิ่งแวดล้อมและอำนวยความสะดวกเพื่อสนับสนุนการป้องกันโรคในโรงเรียน ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ

กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข ขอให้เฝ้าระวัง สังเกตประชาชนในหมู่บ้าน หรือชุมชนที่รับผิดชอบ หากพบผู้ที่มาอาการป่วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ควรแนะนำให้ไปพบแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ภายใน 7 วัน และรายงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เผยแพร่ความรู้และให้คำแนะนำ เพื่อการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข
ทั้งนี้หากประชาชนต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เวปไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 02 -590-3333 และที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลข 02-590-1994ตลอด 24 ชั่วโมง
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ
ผู้จัดทำ.... ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ สธ. 
[12/พ.ค/2552]

 


สธ.แนะประชาชนรับมือหวัดใหญ่เม็กซิโก
 สธ.ออกประกาศแนะวิธีปฏิบัติตัวแก่ประชาชน หลังโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดในประเทศเม็กซิโก
กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศแนะนำประชาชนเรื่องโรคไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในประเทศเม็กซิโก โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

เนื่องจากในขณะนี้ได้เกิดการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ (สายพันธุ์ เอช1 เอ็น1) แพร่ติดต่อระหว่างคนสู่คน มีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยปอดบวม และผู้เสียชีวิตกระจายไปมากในหลายเมืองของประเทศเม็กซิโก และจากข้อมูลองค์การอนามัยโลก ณ วันที่ 27 เมษายน 2552 มีผู้ป่วยที่มีผลยืนยันทางห้องปฏิบัติการในเม็กซิโก 28 ราย ในสหรัฐอเมริกา 40 ราย แต่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงและไม่มีผู้เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยใน 5 มลรัฐ ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย 7 ราย เท็กซัส 2 ราย นิวยอร์ก 28 ราย แคนซัส 2 ราย และโอไฮโอ 1 ราย นอกจากนั้นยังพบผู้ป่วยติดเชื้อหลังกลับจากเม็กซิโกในแคนาดา สเปน และสก็อตแลนด์

ดังนั้นเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เข้ามาในประเทศ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ดำเนินมาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะการอย่างยิ่งการเพิ่มระดับความเข้มข้นของการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่และปอดอักเสบ ร่วมกับการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ การรักษาพยาบาลผู้ป่วย การสำรองยาต้านไวรัส เวชภัณฑ์ต่าง ๆ และอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ และการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้เดินทางที่สนามบินนานาชาติ โดยแจกบัตรเตือนเรื่องสุขภาพ และวัดไข้ด้วยเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ สำหรับการป้องกันโรคนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตน ดังนี้

1. หากไม่จำเป็น ควรเลื่อนหรือชะลอการเดินทางไปยังประเทศที่เป็นพื้นที่เกิดการระบาดจนกว่าสถานการณ์จะยุติลง

2. หากจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เกิดการระบาด ให้หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการไอ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อย ๆ หรือเช็ดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อแนะนำของทางการในพื้นที่นั้นๆ อย่างเคร่งครัด

3. ผู้ที่เดินทางกลับมาจากพื้นที่เกิดการระบาด ถ้ามีอาการของไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยเนื้อตัวมาก ฯลฯ ภายใน 7 วันหลังจากเดินทางกลับ ควรสวมหน้ากากอนามัย หรือใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากจมูกทุกครั้งที่ไอจาม และรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการรักษาและคำแนะนำในการปฏิบัติตนอย่างเข้มงวด

4. รักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดย

4.1 รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ ดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้พอเพียง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และสุรา

4.2 หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการไอ จาม

4.3 หากพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ภายในบ้านหรือสถานที่ทำงานเดียวกัน ต้องรีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพื่อเข้าดำเนินการป้องกันการแพร่ระบาดทันที

หากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลข 0 2590 3333 และติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th


แหล่งข่าวโดย.... เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
ผู้จัดทำ.... ฝ่ายวิเคราะห์และประมวลข่าวสาร สำนักสารนิเทศ สธ.
[29/ม.ย/2552]

 

 

สธ. จับตาไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในเม็กซิโกใกล้ชิด ยืนยันไม่พบเชื้อนี้ในไทย ประชาชนไม่ต้องกังวล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในประเทศเม็กซิโก โดยประสานงานกับองค์การอนามัยโลกและศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกาอย่างใกล้ชิด ยืนยันยังไม่เคยพบเชื้อนี้ในประเทศไทย แนะผู้ที่จะเดินทางไปพื้นที่มีการระบาด คอยติดตามข้อมูลและคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง
ตามที่มีรายงานการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่และปอดบวมในประเทศเม็กซิโก ตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2552 และทวีความรุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ป่วยรวม 854 ราย เสียชีวิต 59 ราย และจากการเก็บตัวอย่างผู้ป่วยรวม 50 ราย ส่งตรวจพบว่า 17 ราย เกิดจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ สายพันธุ์ เอช 1 เอ็น 1 (H1N1) ซึ่งเป็นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ของคน ที่มีสารพันธุกรรมของเชื้อไข้หวัดใหญ่ในหมูผสมอยู่ด้วย ต่อมายังพบผู้ป่วยด้วยเชื้อเดียวกันนี้อีก 7 ราย ในรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเม็กซิโก แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ทำให้เกิดความกังวลว่าอาจเกิดการระบาดใหญ่ขยายตัวไปประเทศอื่นๆ นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ขอยืนยันให้ประชาชนไทยสบายใจว่า จนถึงขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่เคยพบเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ดังกล่าว และจากการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่ต้นปี 2552 -ปัจจุบัน พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ จำนวน 3,159 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งไม่แตกต่างกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2551 อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังโรค รวมทั้งเตรียมความพร้อมรับมือ ทั้งด้านการตรวจวินิจฉัย การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย การเตรียมเครื่องมือและเวชภัณฑ์ ตลอดจนการเดินทางระหว่างประเทศ โดยประสานงานกับองค์การอนามัยโลกและศูนย์ป้องกันควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา อย่างใกล้ชิดด้วย
ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่นี้ มีการแพร่ติดต่อเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ในคนโดยทั่วไป คือเชื้อที่อยู่ในเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย แพร่ไปยังผู้อื่นโดยการไอหรือจามรดกันในระยะใกล้ชิด หรือติดจากมือและสิ่งของที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ และเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางจมูกและตา เช่น การแคะจมูก การขยี้ตา ไม่ติดต่อจากการรับประทานเนื้อหมู ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ คือ มีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ไอ มีน้ำมูก หากป่วยและมีอาการดังกล่าว ควรสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการไปในที่ชุมชน หรือสถานที่แออัด ประชาชนทั่วไปควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผัก ผลไม้ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดดื่มเหล้า ล้างมือบ่อยๆ
ทั้งนี้ ข้อมูลเบื้องต้นจากการสอบสวนโรคบ่งชี้ว่า ไข้หวัดใหญ่เอช 1 เอ็น 1 เป็นการติดต่อจากคนสู่คนและทำให้มีผู้เสียชีวิต ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และกำลังพิจารณาให้คำแนะนำเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ ดังนั้น ผู้ที่มีแผนการเดินทางไปยังประเทศเม็กซิโก รวมทั้งรัฐแคลิฟอร์เนียและเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงควรติดตามสถานการณ์และคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดต่อไป
**************************************** 26 เมษายน 2552

แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ
ผู้จัดทำ.... ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ สธ.  
[26/ม.ย/2552]

 


พบไข้หวัดใหญ่ดื้อยา 16 สายพันธุ์ทั่วประเทศ
 พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ 16 สายพันธุ์ กระจายทั่วประเทศ กทม.และสุราษฎร์ฯ มากสุด 5 สายพันธุ์ เผยดื้อยาถึง 75% ผู้เชี่ยวชาญมั่นใจผลิตยาตัวใหม่ทัน แนะคนชราเด็กฉีดยาป้องกันก่อนเข้าหน้าฝน

หลังจากไข้หวัดนกที่มีเชื้อไวรัสกลุ่มเดียวกับไข้หวัดใหญ่ระบาดในประเทศไทย เมื่อปี 2547-2549 ทำให้มีผู้ป่วยจากไข้หวัดนกเสียชีวิตไปแล้ว 17 ราย ล่าสุดผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างในเมืองไทยพบข้อมูลที่น่าตกใจว่า ยา "ทามิฟลู" ที่เคยรักษาไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่ได้นั้น อาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป เนื่องจากในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ปีที่ผ่านมา นักวิจัยพบไวรัสไข้หวัดใหญ่มีเชื้อดื้อยาและกลายพันธุ์ในประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 75 ถือเป็นสัญญาณอันตรายหากไข้หวัดนกระบาดขึ้นมาครั้งใหม่

ปัจจุบันทั่วโลกมียาเพียง 2 ขนาน ที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดนก คือ ทามิฟลู หรือโอเซลทามิเวียร์ หรือรีเล็นซา หรือที่มีชื่อสามัญว่า ซานามิเวียร์ เท่านั้น ล่าสุดแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยาแนะนำให้คนแก่และผู้มีร่างกายอ่อนแอไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนหน้าฝนจะมาถึงนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ไข้หวัดใหญ่แห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รายงาน "ผลการเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาและการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดใหญ่ พ.ศ.2551" ซึ่งเป็นโครงการร่วมกับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (ยูเอส-ซีดีซี) โดยระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2551 ได้เก็บข้อมูลตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ จำนวน 3,736 ตัวอย่าง จากโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขรวม 10 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลแม่สอด โรงพยาบาลหนองคาย โรงพยาบาลพระปกเกล้า โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลแม่จัน โรงพยาบาลเชียงแสน โรงพยาบาลเกาะช้าง โรงพยาบาลกรุงเทพ-สมุย โรงพยาบาลเกาะสมุย และศูนย์บริการสาธารณสุข 17 กรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่และวิเคราะห์หาสายพันธุ์และการดื้อยา ทำให้พบว่ามีเชื้อไวรัสดื้อยาทามิฟลู 16 สายพันธุ์ จากทั้งหมด 71 ตัวอย่างที่สุ่มตรวจ

โดยแบ่งการตรวจระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ไม่พบเชื้อดื้อยาทามิฟลู เดือนเมษายน-มิถุนายน พบเชื้อดื้อยา 2 ราย จากการสุ่มตรวจ 16 ราย คิดเป็นร้อยละ 12 ส่วน ไตรมาส 3 เดือนกรกฎาคม-กันยายน พบเชื้อดื้อยา 5 ราย จาก 9 ราย เพิ่มสูงเป็นร้อยละ 55 และไตรมาสสุดท้าย เดือนตุลาคม-ธันวาคม พบเชื้อดื้อยา 9 ราย จาก 12 ราย พบสายพันธุ์ดื้อยาทามิฟลูสูงถึงร้อยละ 75 สรุปได้ว่า ช่วง 6 เดือนหลังของปีที่แล้ว ประเทศไทยพบอัตราการแพร่กระจายเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึงร้อยละ 50-75 ทั้งนี้ ตัวอย่าง 16 ราย หรือ 16 สายพันธุ์ ที่พบกระจายทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่กรุงเทพมหานคร (5) สุราษฎร์ธานี (5) สงขลา (4) หนองคาย (1) และตาก (1)

บทสรุปรายงานข้างต้นระบุว่า "การเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาปี 2551 นับเป็นสัญญาณว่าเป็นห่วงว่า การรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ติดเชื้ออินฟลูเอ็นซา เอ/เอช 1 เอ็น 1 ด้วยยาทามิฟลูที่ใช้อยู่อาจไม่ได้ผลดีอย่างในอดีต ดังนั้นแพทย์ควรติดตามข้อมูลเฝ้าระวังเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาอย่างต่อเนื่อง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลนี้ในการวางแผนให้การรักษาและสั่งยาต้านไวรัสให้แก่ผู้ป่วยสงสัยไข้หวัดใหญ่อย่างเหมาะสมต่อไป"

ทั้งนี้ ศ.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราช พยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญไวรัสไข้หวัดนกอธิบายเพิ่มเติมว่า เชื้อไข้หวัดนกและไข้หวัดใหญ่เป็นไวรัสกลุ่มเดียวกัน แต่มีสายพันธุ์ต่างกัน โดยไวรัสไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยที่พบบ่อยจะมี 2 สายพันธุ์ คือ เอ/เอช 1 เอ็น 1 กับ เอ/เอช 3 เอ็น 2 ส่วนไข้หวัดนกจะมีสายพันธุ์ เอช 5 เอ็น 1 ซึ่งติดต่อในสัตว์มากกว่าในคนแต่เวลาที่รักษาจะใช้ตัวยาแบบเดียวกัน ซึ่งขณะนี้แพทย์ในประเทศไทยและแพทย์ทั่วโลกจะสั่งยารักษาไวรัสกลุ่มนี้ 2 ขนาน คือ ทามิฟลู กับ รีเล็นซา ซึ่งแต่เดิมหมอไทยจะไม่นิยมสั่งยาทั้ง 2 ขนานนี้ นอกจากกรณีที่ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่มีอาการรุนแรงมากเท่านั้น ส่วนใหญ่รักษาตามอาการมากกว่า แต่หลังจากปี 2547 ไข้หวัดนกระบาดก็เริ่มสั่งยาทามิฟลูมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีอาการของไข้หวัดนก เพราะแพทย์ไม่แน่ใจว่าเป็นไข้หวัดใหญ่หรือไข้หวัดนก เช่น มีอาการปอดอักเสบก็จะสั่งยาทามิฟลูทันที

"ได้อ่านผลวิจัยเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดื้อยาแล้ว แต่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ประเทศไทย ในต่างประเทศก็พบผู้ป่วยดื้อยาตัวนี้สูงมาก เช่น ญี่ปุ่น และอเมริกา เพราะหมอที่นั่นจะสั่งยาตัวนี้ให้คนไข้เป็นประจำ ซึ่งตอนนี้ถ้าคนไข้ดื้อยาทามิฟลู ก็สามารถสั่งยารีเล็นซาให้ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมเพราะเป็นยาแบบฉีดพ่น แม้ไวรัสไข้หวัดใหญ่จากทั่วโลกจะกลายพันธุ์หรือดื้อยามากขึ้นก็จริงแต่ก็เป็นเรืองปกติ ไม่น่าเป็นห่วง เพราะบริษัทที่ผลิตยามีการทดลองตัวยาใหม่ หลายตัว และพร้อมที่จะออกมาวางขายในตลาด หากปีนี้คนป่วยมีเชื้อไข้หวัดใหญ่ดื้อยาทามิฟลู ก็ใช้ยาตัวอื่นแทน แต่ถ้าปีหน้าคนป่วยคนเดิมไปติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แบบไม่ดื้อยาทามิฟลู ก็รักษาด้วยยาตัวนี้ได้" ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ระบาดอย่างต่อเนื่องนั้น ศ.นพ.ประเสิรฐ ได้แนะนำให้ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเรื้อรัง ไปฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามสถานพยาบาลทั่วไป โดยเฉพาะช่วงก่อนเข้าฤดูฝนหรือฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงระบาดของโรค

โดยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าจากการเฝ้าระวังเชื้อ เอ/เอช 1 เอ็น 1 ตั้งแต่ปลายปี 2550-2551 พบเชื้อไข้หวัดใหญ่ เอ/เอช 1 เอ็น 1 ดื้อยาทามิฟลูในอัตราสูงมากโดยเฉพาะในแถบสหภาพยุโรป ซึ่งเดิมพบร้อยละ 0.5 แต่ปัจจุบันพบสูงถึงร้อยละ 50-70 ส่วนสายพันธุ์ เอ/เอช 3 เอ็น 2 และสายพันธุ์บียังไม่พบการดื้อยาทามิฟลูแต่อย่างใด สถิติทั่วโลกพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่แบบมีอาการรุนแรงต้องเข้ารักษาตัวในสถานพยาบาลประมาณ 2 แสนราย โดยเสียชีวิต 3.6 หมื่นราย

จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ของสำนักโรงติดต่ออุบัติใหม่ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เมื่อปี 2550 พบรายงานผู้ป่วย 18,368 ราย เสียชีวิต 15 ราย ส่วนปี 2551 เฉพาะเดือนมกราคม-สิงหาคม มีรายงานผู้ป่วยทั่วประเทศ 9,557 ราย เสียชีวิต 2 ราย ที่ จ.สุราษฎร์ธานี
แหล่งข่าวโดย.... เว็บไซต์คมชัดลึก
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[20/ก.พ/2552]

 

 


สธ.เตือนอย่าเล่นน้ำ หวั่นติดเชื้อ"หวัดนก"
 กรณีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้บึงหนองคอกควาย หนองน้ำขนาดใหญ่ใน ต.ไผ่ขวาง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ร้องเรียนผู้สื่อข่าวว่ามีฝูงนกเป็ดแดงนับหมื่นตัว อาศัยอยู่ที่บริเวณหนองน้ำดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวว่าอาจนำเชื้อโรคไข้หวัดนกไปแพร่ได้นั้น

เมื่อวันที่ 27 มกราคม นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ไม่อยากให้ประชาชนตื่นกลัวฝูงนกธรรมชาติ แต่ขอให้ตระหนักถึงการป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้ติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีก โดยในระยะนี้ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำ ว่ายน้ำ ในบึง ลำคลอง หรือหนองน้ำ ที่มีนกธรรมชาติ เช่น นกเป็ดน้ำ เป็ด ฯลฯ แต่หากจำเป็นต้องลงไปทำงาน หรือหาปลา ขอให้ระมัดระวังอย่าให้น้ำเข้าปาก ตา รวมทั้งห้ามนำน้ำจากบึงหรือแม่น้ำลำคลองที่มีสัตว์ปีกอาศัยอยู่ไปใช้หรือดื่ม เนื่องจากนกจะถ่ายมูลลงในน้ำ ซึ่งหากมีเชื้อไวรัสไข้หวัดนกปนเปื้อน เชื้อในน้ำจะทนทานกว่าที่แห้ง สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานถึง 17 วัน

ด้าน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ตามเขตเมืองหรือในชนบทบางแห่งจะมีฝูงนกพิราบอาศัยอยู่ นับเป็นเหตุรำคาญชนิดหนึ่ง โดยในมูลนกพิราบอาจจะมีเชื้อราปนเปื้อน เชื้อดังกล่าวจะเจริญเติบโตได้ดีในที่อับชื้น แสงแดดส่องไม่ถึง ผู้ที่สุขภาพไม่ดี มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหอบหืด ไม่ควรไปคลุกคลีกับนก หรืออยู่ใกล้นก โดยเฉพาะผู้ที่ชอบให้อาหารนกพิราบ จะต้องโยนอาหารออกไปให้ไกลตัวที่สุด

"ประการสำคัญ ขอให้ประชาชนหมั่นล้างมือบ่อยๆ ภายหลังหยิบจับสิ่งของ หรือใกล้ชิดสัตว์ปีก ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยกำจัดเชื้อโรคที่ติดมากับมือออกไปได้มากกว่าร้อยละ 80" นพ.ม.ล.สมชาย กล่าว
แหล่งข่าวโดย.... เว็บไซต์มติชน
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[28/ม.ค/2552]

 

 


สธ.ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ วาง 4 มาตรการเข้มป้องกันไข้หวัดนกช่วงตรุษจีน
 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมปศุสัตว์ วาง 4 มาตรการเข้มดูแลโรงชำแหละเป็ดไก่ ตลาดสด ให้สะอาดปลอดเชื้อไข้หวัดนก สร้างความมั่นใจกับผู้บริโภคในช่วงเทศกาลตรุษจีน

นายมานิต นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการป้องกันโรคไข้หวัดนกในเทศกาลตรุษจีน ปี 2552 ว่า ได้ร่วมกับกรมปศุสัตว์ ออก 4 มาตรการดูแลเข้ม โรงชำแหละสัตว์ปีกทุกแห่งโดยเฉพาะย่านเยาวราชที่จะมีคนไทยเชื้อสายจีนออกจับจ่ายซื้อของมาเซ่นไหว้บรรพบุรุษในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 24-26 มกราคมนี้ โดยสัตว์ปีกที่จะเข้าสู่โรงชำแหละต้องผ่านการตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกก่อน มีการสุ่มตรวจไก่ที่ส่งขายตามท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง ควบคุมการรักษาความสะอาดทุกขั้นตอนการผลิตของผู้ประกอบการทั้งชำแหละและขายต่อ ซึ่งสัตว์ปีกทั้งหมดที่ผ่านการตรวจ จะมีสายรัดข้อขาสัตว์ปีกที่ระบุข้อความและหมายเลขของกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ผู้บริโภคทราบว่าไก่ที่วางจำหน่ายมาจากแหล่งเลี้ยงที่ปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัดนก

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดนกจะถูกทำลายด้วยความร้อนอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัดนกประชาชนควรยึดหลักปฏิบัติ 3 ประการ คือ กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
แหล่งข่าวโดย.... กรมประชาสัมพันธ์
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[19/ม.ค/2552]

 

 

 

สธ. กำหนดเกณฑ์จังหวัดพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนกเพิ่มอีก 14 จังหวัด เพิ่มความครอบคลุมเฝ้าระวังโรคในคน
 กระทรวงสาธารณสุข ปรับเพิ่มพื้นที่เสี่ยงไข้หวัดนกในคนอีก 14 จังหวัด พร้อมติวเข้มมิสเตอร์ไข้หวัดนกในพื้นที่ จับตาโรคไข้หวัดนกในสัตว์และในคนอย่างใกล้ชิด เน้นการค้นหาสอบสวนโรคที่รวดเร็ว ตรวจวินิจฉัยแม่นยำ และพร้อมให้การดูแลรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

วันนี้ (16 มกราคม 2552) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารและมิสเตอร์ไข้หวัดนกในพื้นที่เสี่ยง 14 จังหวัด จำนวน 200 คน เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคและการดูแลผู้ป่วยไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันโรคไข้หวัดนกยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ใน 61 ประเทศทั่วโลก เชื้อมีโอกาสแพร่กระจายระหว่างภูมิภาค หากไม่มีการควบคุมโรคที่ดี ก็อาจนำไปสู่การระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่เกิดจากการผสมของเชื้อไข้หวัดนกในสัตว์ปีกกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคน โดยสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนของไทย ตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน มีผู้ป่วยทั้งสิ้น 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย รายสุดท้ายพบเมื่อ กรกฎาคม 2549

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า แม้ไทยจะปลอดจากโรคไข้หวัดนกในคนมากว่า 2 ปี แต่จากการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งทำให้การกำจัดเชื้อเป็นไปได้ยาก รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่เอื้อต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้หวัดนกในคนได้อีก จึงต้องควบคุมป้องกันอย่างต่อเนื่อง และถือเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารทุกระดับทุกพื้นที่ ต้องให้ความสำคัญและดูแลอย่างเต็มที่ หากมีสัตว์ปีกติดเชื้อ จะต้องป้องกันไม่ให้คนติดเชื้อหรือป่วย และหากมีผู้ป่วยต้องดูแลรักษาไม่ให้เสียชีวิต โดยประสานการทำงานกับปศุสัตว์และฝ่ายปกครองในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในปีนี้กรมควบคุมโรคได้ปรับเกณฑ์จังหวัดพื้นที่เสี่ยงโรคไข้หวัดนกใหม่ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมในการควบคุมเฝ้าระวังโรค ได้แก่ จังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547-2551 จังหวัดที่มีพื้นที่เสี่ยงซ้ำซากของกรมปศุสัตว์ และจังหวัดที่เคยมีความเสี่ยงรองลงมาของกรมปศุสัตว์และมีผู้ป่วยเข้าข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกมากที่สุด ซึ่งจะทำให้สามารถจัดการปัญหาได้ตั้งแต่เริ่มมีสัญญาณการระบาด โดยมีจังหวัดที่เข้าข่ายพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 14 จังหวัด ได้แก่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ชัยนาท ปราจีนบุรี นครนายก สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น และหนองบัวลำภู

โดยการประชุมวันนี้ เป็นการทบทวนและเร่งรัดมาตรการต่างๆ ตั้งแต่การค้นหา รายงาน สอบสวนและเข้าควบคุมโรคเบื้องต้นในชุมชนอย่างรวดเร็วและครอบคลุม การเก็บสิ่งส่งตรวจอย่างถูกต้อง และส่งอย่างรวดเร็ว เพื่อการชันสูตรโรคที่แม่นยำ รู้ผลเร็ว การฝึกซ้อมบุคลากรให้มีความชำนาญในการดูแลผู้ป่วย การเตรียมพร้อมสถานที่และวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ คำแนะนำในการป้องกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

ทั้งนี้ แผนป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดนกของไทยขณะนี้ อยู่ภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ของชาติ ฉบับที่ 2 มี 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การจัดระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์ปีก การเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคทั้งในสัตว์และคน การเตรียมความพร้อมรับการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ และความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจและนานาประเทศ
แหล่งข่าวโดย.... สำนักสารนิเทศ
ผู้จัดทำ.... ฝ่ายข่าวและสื่อมวลชนสัมพันธ์ กลุ่มสารนิเทศ
[16/ม.ค/2552
 
 
 
 

สธ.เตือนหน้าหนาวระวังไข้หวัดนกแนะล้างมือบ่อยๆ
 นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวเป็นฤดูกาลที่มีความเสี่ยงเกิดโรคไข้หวัดนกระบาด เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็น เอื้อให้เชื้อไวรัสมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ดีในธรรมชาติ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีรายงานพบผู้ติดเชื้อโรคไข้หวัดนกที่ประเทศจีนและเวียดนาม ในส่วนของประเทศไทยยังคงมาตรการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกเข้มเหมือนเดิม ทั้งในสัตว์และในคนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนมากว่า 2 ปีแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ขอให้ประชาชนทุกคนป้องกันตนเอง โดยล้างมือฟอกสบู่บ่อยๆ ภายหลังสัมผัสสิ่งของสาธารณะ และอย่าเล่นคลุกคลีกับสัตว์ปีก ทั้งนี้ ใกล้เทศกาลตรุษจีน ประชาชนต้องใกล้ชิดกับสัตว์ปีกอย่างมาก โดยเฉพาะเป็ดไก่ ไม่ว่าจะเป็นการขนย้าย การเลี้ยง การเชือด ต้องระวังทุกขั้นตอน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ป้องกันโรคไข้หวัดนกในเทศกาลตรุษจีนในช่วงก่อนตรุษจีน เพื่อให้ประชาชนสามารถปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากโรคไข้หวัดนก

ทางด้าน นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน ในกลุ่มที่ป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก โดยเฉพาะโรคปอดบวม ปอดอักเสบ และโรคไข้หวัดใหญ่ ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศ และอยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ตั้งแต่วันที่ 1-7 มกราคม 2552 มีทั้งหมด 8 ราย ยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก

สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงวันที่ 7 มกราคม 2552 มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 393 ราย เสียชีวิต 248 ราย ใน 15 ประเทศ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน กัมพูชา จีน สาธารณรัฐจิบูตี อียิปต์ อินโดนีเซีย อิรัก ลาว พม่า ไนจีเรีย ปากีสถาน ไทย ตุรกี เวียดนาม และบังกลาเทศ โดยไทยไม่พบการติดเชื้อในคนติดต่อกันมาแล้ว 2 ปี รายสุดท้ายพบเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2549
แหล่งข่าวโดย.... บ้านเมือง
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[12/ม.ค/2552

 

ประกาศให้ อ.หนองฉางเป็นเขตควบคุมหวัดนก
 ผู้สื่อข่าว จ.อุทัยธานี ได้รายงานสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นที่พบในไก่พื้นเมืองที่ ต.ทุ่งโพ อ.หนองฉาง มาว่า ล่าสุดนายชนม์ชื่น บุญญานุสาสน์ ผวจ. ได้ประกาศให้ อ.หนองฉาง เป็นเขตควบคุมโรคไข้หวัดนกแล้วทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. เป็นต้นมา เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ควบคุมโรคได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตาม โรคไข้หวัดนกที่พบนั้น เป็นไก่พื้นเมืองที่ชาวบ้านเลี้ยงปล่อยไว้ 2 รายด้วยกัน โดยได้ทำลายไก่พื้นเมืองไปเพียง 20 ตัว เท่านั้น

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่รุนแรงและมีอะไรน่าเป็นห่วง ประชาชนสามารถบริโภคไก่ได้ตามปกติแต่ต้องทำให้สุกเสียก่อน พร้อมกับได้ส่งทีม จนท.สาธารณสุข ให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกด้วย “พอเหตุเกิดที่ จ.สุโขทัย เราได้นำมาตรการทำลายไก่ในจุดที่พบตายผิดปกติ รวมทั้งห้ามชนไก่ หรือซ้อมไก่อย่างเด็ดขาด พอพบโรคไข้หวัดนกในพื้นที่เราก็ทำอย่างต่อเนื่อง” ขณะที่ จนท.สารวัตรกรมปศุสัตว์ ได้ตั้งด่านสกัดการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกบนถนนสายหลักก่อนเข้าตัวเมืองอุทัยธานี บนถนนสายอุทัยธานี-ท่าน้ำอ้อย ต.หาดทนง อ.เมือง ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน เพื่อเข้มงวดกวดขันการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก อันเป็นการป้องกันการขยายวงกว้าง
แหล่งข่าวโดย.... เดลินิวส์
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[27/พ.ย/2551]

 

 


กำแพงเพชรพบผู้ป่วยต้องสงสัยหวัดนก2ราย
 จากการที่พบว่า มีสัตว์ปีกป่วยตายด้วยเชื้อไข้หวัดนกอีกครั้งหนึ่งใน จ.สุโขทัย และมีการประกาศให้ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ทำการเฝ้าระวังไข้หวัดนกอย่างเข้มงวดนั้น ล่าสุดวันนี้ (19 พ.ย.) ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร นายแพทย์กำชัย รังสิมันต์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกำแพงเพชร กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลกำแพงเพชรเฝ้าระวังคนไข้จำนวน 2 รายที่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย

โดยรายแรกเป็นเด็กชาย อายุ 10 ขวบ ในตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร รับเป็นคนไข้เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 โดยมีประวัติไก่ที่บ้านตายประมาณ 1 สัปดาห์ เด็กชายคนนี้ไม่มีประวัติสัมผัสไก่โดยตรง เข้าโรงพยาบาลด้วยอาการปอดบวม หลังจากรักษาที่โรงพยาบาลอำเภอปางศิลาทอง 3 วัน อาการไม่ดีขึ้น จึงถูกส่งตัวต่อเข้ารักษาที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร โดยมีอาการปอดบวมทั้ง 2 ข้าง อาการหนักมาก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อไข้หวัดนกจึงต้องให้ยาต้านไวรัสไปด้วย ขณะนี้คนไข้อาการดีขึ้น ซึ่งได้ส่งเสมหะและเลือดคนไข้ไปทดสอบแล้วจำนวน 3 ครั้ง ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก

นายแพทย์กำชัย กล่าวว่า เนื่องจากเด็กมีประวัติสัมผัสไก่ และอาการค่อนข้างหนัก จึงไม่ได้ตัดประเด็นเรื่องไข้หวัดนกออกไป โดยยังคงมีการเฝ้าระวังเรื่องไข้หวัดนกอยู่ ซึ่งได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในส่วนกลางว่า ให้ตรวจสอบอาการว่าติดเชื้ออื่น ๆ อีกหลายชนิดหรือไม่ เนื่องจากคนไข้ยังมีอาการไข้อยู่ จากการตรวจ 3 ครั้งไม่พบเชื้อ จึงคาดว่าเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่ไข้หวัดนก แต่ทางโรงพยาบาลยังเฝ้าระวังคนไข้อยู่ในห้องไอซียู. โดยแยกสัดส่วนกับคนไข้อื่น ๆ และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ตลอดเวลา

ส่วนอีกรายหนึ่งนั้น เป็นหญิง อายุ 60 ปี จากตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกโดยมีไก่ตายและจับไก่ไปกลบฝัง หลังจากนั้น 1 สัปดาห์เป็นไข้เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอำเภอคลองลานเป็นเวลา 3 วัน ถุกส่งต่อเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร ด้วยอาการเป็นไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งจากผลการตรวจเลือดเป็นปกติและผลเอ็กซเรย์ปอดไม่พบสิ่งผิดปกติ และผลการตรวจสิ่งคัดหลั่งก็ไม่พบเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งคาดว่าคนไข้ไม่ได้เป็นไข้หวัดนก แต่ทางโรงพยาบาลยังคงเฝ้าระวังดูแลอยู่เพื่อความมั่นใจ เนื่องจากในช่วงหน้าหนาว โอกาสที่เชื้อไข้หวัดนกจะแพร่ระบาดมีมากกว่าปกติ

นายแพทย์กำชัย กล่าวอีกว่า โรงพยาบาลกำแพงเพชรร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำแพงเพชร คอยเฝ้าระวังเรื่องไข้หวัดนกตลอดเวลา รวมทั้งนายวันชัย อุดมสิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้กำชับให้อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) และเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ทำการดูแลพื้นที่อย่างเข้มงวด หากพบหมู่บ้านตำบลใดมีไก่ตายผิดปกติ ต้องทำการฝังกลบตามหลักวิธีการอย่างถูกต้อง และหากมีผู้ป่วยไข้มีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ต้องส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน เพื่อป้องกันมิให้มีการแพร่ระบาดเชื้อไข้หวัดนกในคน.
แหล่งข่าวโดย.... เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[20/พ.ย/2551]
 

 


สธ.จับตา9จังหวัดภาคเหนือเสี่ยงไข้หวัดนก
 สาธารณสุข จับตา 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เป็นพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ระบุปศุสัตว์จังหวัด เร่งรัดมาตรการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในคน สั่งโรงพยาบาลทุกแห่งจัดช่องทางด่วนตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ แยกดูแลในห้องปลอดเชื้อ และให้กินยาต้านไวรัสทันทีหากมีผู้ติดเชื้อในข่ายสงสัย

ที่โรงแรมอมรินทร์ ลากูน จังหวัดพิษณุโลก - นพ.ไพจิตร์ วราชิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะมิสเตอร์ไข้หวัดนกของกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ปศุสัตว์จังหวัด มิสเตอร์ไข้หวัดนก เจ้าหน้าที่ห้องชันสูตรโรค เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่างได้แก่ พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร และพิจิตร จำนวน 380 คน เพื่อเร่งรัดมาตรการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนก

นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เป็นพื้นที่ควบคุมเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคน หลังจากที่มีรายงานสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกที่อ.ทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551 เนื่องจากสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็น ทำให้เชื้อไวรัสที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเจริญเติบโต มีชีวิตยืนยาวขึ้น และพื้นที่ดังกล่าวเคยมีสัตว์ปีกและคนติดเชื้อไข้หวัดนกมาก่อน จึงต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งระบบการเฝ้าระวังป้องกันโรค ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด และระบบการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อ

นพ.ไพจิตร์ กล่าวอีกว่า ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดช่องทางด่วนตรวจคัดกรองผู้ที่มีอาการไข้ ไอ และมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย แยกรักษาผู้ป่วยสงสัยในห้องแยกปลอดเชื้อ และให้ยาต้านไวรัส พร้อมตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ ขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 13 แห่งทั่วประเทศ สามารถรายงานผลการตรวจวิเคราะห์เชื้อภายใน 24 ชั่วโมง

"การเฝ้าระวังในระดับหมู่บ้าน ได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ทั้งในคนและสัตว์ปีก รับผิดชอบคนละ 5-10 หลังคาเรือน และให้ความรู้แก่ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการเดินทางไปติดตามระบบควบคุมป้องกันโรคที่หมู่บ้าน ที่ อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย จุดที่พบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนก พบว่ามีระบบการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มแข็งทั้งด้านปศุสัตว์และสาธารณสุขได้ผลดีมากขณะนี้ยังไม่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก"นพ.ไพจิตร์ กล่าว

ด้านนพ.หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ไข้หวัดนกในคนของไทยว่า ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกติดต่อกันเป็นเวลากว่า 2 ปี พบครั้งแรกตั้งแต่พ.ศ. 2547 ถึงพ.ศ. 2549 มีผู้ป่วยรวม 27 ราย เสียชีวิต 17 ราย หลังจากนั้นไม่พบผู้ติดเชื้ออีกเลย ทั้งนี้เนื่องจากมีมาตรการป้องกันควบคุมที่เข้มแข็งทั้งในสัตว์และคน โดยได้ใช้ 4 ยุทธศาสตร์สำคัญได้แก่ 1.การจัดการระบบการผลิตและเลี้ยงสัตว์ปีก 2.การเฝ้าระวังควบคุมป้องกันโรคทั้งในสัตว์และคน

3. ความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน ประชาชน ภาคธุรกิจและนานาประเทศ 4.การเตรียมความพร้อมรับมือการระบาดใหญ่ซึ่งอาจเกิดจากไข้หวัดนกกลายพันธุ์ โดยเน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
แหล่งข่าวโดย.... เว็บไซต์สำนักข่าวเนชั่น
ผู้จัดทำ.... สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
[14/พ.ย/2551]

 







dot
บทความสำคัญ / Download
dot
bulletการปรับปรุงห้องผ่าตัด
bulletคุณภาพอากาศอาคารพักอาศัย
bulletการเลือกเครื่องฟอกอากาศ
bulletเครื่องมือจัดการคุณภาพอากาศ
bulletงานศึกษาวิจัย
bulletรางวัลผลงาน
bulletผลงานอ้างอิง
bulletเปรียบเทียบค่าใชัจ่าย
bulletGreen Building , LEED
bulletASHARE 52.2
dot
ฝากที่อยู่ไว้ เราจะติดต่อ,ส่งข้อมูลกลับ

dot
dot
รู้จักพิษภัยทางอากาศที่สำคัญ
dot
bulletไข้หวัดใหญ่ 2009
bulletวัณโรค TB
bulletไข้หวัดนก Bird Flu
bulletไข้หวัดซาร์ Sars
bulletไข้หวัดใหญ่ Influenza
dot
ข่าวสารพิษภัยทางอากาศ
dot
bulletข่าวเตือนภัยวัณโรค
bulletข่าวเตือนภัยไข้หวัด
dot
งานวิชาการ
dot
bulletภาพงานวิชาการ
dot
Guidelines in Healthcare Facilities
dot


Practical Guidelines for Infection Control in Health Care Facilities
Guidance for Filtration and Air-Cleaning Systems to Protect Building Environmemts
Guideline for Environmental Infection Control in Health-Care Facilities, 2003
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
Leadership in Energy and Environmental Design,LEED


Copyright © 2008-2012 All Rights Reserved. VORAVITCH SINGHANART
สนใจผลิตภัณฑ์ หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม บรรยาย,คำปรึกษาการออกแบบ Clean Room, Isolation Room วรวิชญ์ สิงหนาท B.Ind.TECH (Civil Engineering) M.A.(Resources&Environment) Tel : 085-1122-422 Fax : 00 Email : voravitch@hotmail.com